web stats

ข่าว

+-User

Welcome, Guest.
Please login or register.
 
 
 
Forgot your password?
ปัญหาการสมัครสมาชิก
วิธีเปลี่ยนสถานะเป็นนักเขียน
วิธีลงนิยาย
วิธีใช้งานบอร์ด

+-สถิติการใช้งาน

Members
Total Members: 880
Latest: Levitra5a
New This Month: 0
New This Week: 0
New Today: 0
Stats
Total Posts: 1553
Total Topics: 886
Most Online Today: 31
Most Online Ever: 601
(21 กันยายน 2024 เวลา 08:04:58 )
Users Online
Members: 0
Guests: 133
Total: 133

ผู้เขียน หัวข้อ: นกของทิฆัมพร บทที่ 5  (อ่าน 1423 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ อาพัทธ์ อันธการ

  • Moderator
  • ขาจร
  • *****
  • กระทู้: 74
นกของทิฆัมพร บทที่ 5
« เมื่อ: 26 ธันวาคม 2013 เวลา 23:58:54 »
บทที่ 5

หลังอายุครบ 15 ปีไม่กี่วันอ้อยก็ไปทำบัตรประชาชนและสมัครทำงานในไร่ผลไม้ซึ่งห่างจากบ้านไป 5 กิโลเมตร เจ้าของปลูกผลไม้หลากหลายชนิด ไร่แห่งนี้เปิดรับคนงานแทบจะตลอดเวลา ซึ่งแม่ของเธอไม่ยอมให้เรียนต่ออีกต่อไป และทิฆัมพรเองก็คิดว่าถ้าได้ทำงานเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้เธอไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ อย่างน้อยก็ดีกว่าจะอยู่บ้านเฉยๆ ไม่มีทั้งเงินและวุฒิการศึกษาสูงๆ

ตอนไปขอสมัครทำงานหล่อนโดนมองหัวจรดเท้า หัวหน้าคนงานซึ่งเป็นชายร่างใหญ่ผิวดำคล้ำมองเธออย่างไม่ค่อยชอบใจนัก

"ผอมอย่างนี้จะทำงานไหวเหรอ" นั่นเป็นคำพูดประโยคแรกที่อีกฝ่ายเอ่ยขึ้นมา

"ไหวค่ะ" สาวร่างบางตอบนิ่งๆ

"ไหนลองยกกระสอบปุ๋ยสิ" คนคัดเลือกทดสอบกำลังโดยการให้ยกถุงปุ๋ยซึ่งบรรจุแน่นเต็มถุง

เธอเดินไปยืนข้างกระสอบแล้วย่อตัวในท่านั่งยอง จากนั้นจึงค่อยๆ ยกถุงขึ้นมา มันหนักค่อนข้างมาก แต่หล่อนพอจะยกไหวเพราะทำงานมาตลอด ทั้งยกน้ำ ซักผ้า ฯลฯ

"ก็พอได้ เริ่มงานอาทิตย์หน้าละกัน แล้วเงินจะรับเป็นวันหรือเป็นเดือน" ชายวัยกลางคนไม่แม้แต่จะถามชื่อเสียงเรียงนามให้เสียเวลา เขาพูดจาเสียงดุดันสั้นกระชับคล้ายกับจะตวาด

"เดือนค่ะ" หญิงสาวตอบหลังจากคิดเพียงแปบเดียว

"วันแรกเอาสำเนาบัตรประชาชนมาด้วย" เขาพูดประโยคสุดท้ายพร้อมกับกลับไปคุมคนงานต่อ



หล่อนตื่นเช้าเช่นเคยเพราะเคยชินกับการไปโรงเรียน เพียงแต่ตอนนี้ต้องไปทำงานแทนเท่านั้น เธอต้องเผื่อเวลาสำหรับการเดินไปที่ไร่จะได้ไม่ไปทำงานสาย งานเริ่มตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าเลิกห้าโมงเย็น ข้าวกลางวันที่ไร่ให้กินฟรี เด็กสาวคิดว่าจริงๆ ก็คงไม่ได้ให้ฟรีแต่หักจากค่าแรงแล้วมากกว่า แต่หล่อนก็เต็มใจเพราะดีกว่าทนหิวอยู่ทั้งวัน

"เอ้าเร็วๆ สิ" เสียงคนงานที่ดูแลเธอเร่ง หล่อนเข็นรถขนาดเล็กซึ่งมีกระสอบปุ๋ยบรรจุอยู่เกือบ 6 ใบ ข้างในเต็มไปด้วยปุ๋ยชนิดต่างๆ ซึ่งต้นไม้แต่ละแถวมีกำหนดใส่ปุ๋ยแตกต่างกันไป ห้าแถวที่เธอยืนอยู่นี้ต้องใส่ให้เสร็จภายในตอนเย็น หากเกินต้องอยู่ทำจนเสร็จ ซึ่งไม่มีใครต้องการอย่างนั้น ทุกคนพยายามทำงานให้เสร็จโดยเร็วและรีบกลับบ้าน พี่หน่องซึ่งกำลังเร่งเธอก็เช่นกัน

"ค่ะ" หล่อนรับปากและรีบเข็นให้เร็วกว่าเดิม ข้อมือทั้งสองข้างปวดร้าวเพราะน้ำหนักที่มาก แม้รถจะมีล้อช่วยเบาแรงอยู่ก็ตาม

"กลางวันก็กินข้าวให้มันเยอะๆ ผอมอย่างนี้ทำได้ไม่ถึงเดือนเดี๋ยวก็ออก" คนตรงหน้าพูดจาห้วนอารมณ์ไม่ค่อยดีนัก หล่อนไม่รู้ว่าอีกฝ่ายเป็นห่วงที่เธอต้องออกจากงาน หรือเป็นห่วงว่างานจะคืบหน้าไปได้ช้ากันแน่

จริงๆ ไม่ต้องบอกทิฆัมพรก็ตั้งใจเช่นนั้น เพราะมื้อกลางวันคืออาหารมื้อเดียวที่เธอจะมีโอกาสได้กิน ตอนเย็นที่บ้านหล่อนไม่อยากจะนับว่าเป็นการกินด้วยซ้ำ

พักกลางวันคนงานเกือบร้อยคนมารวมตัวกันเพื่อรับถาดสำหรับใส่อาหาร มีเพื่อนร่วมโรงเรียนของหล่อนถึง 4 คน เด็กสาวไม่เคยได้คุยแต่ก็เห็นหน้าค่าตากันอยู่เสมอตลอดเวลาที่เรียน

ตกเย็นที่ประตูทางออกของไร่คนงานต่อแถวยาวเพื่อรับเงิน พี่หน่องเองก็เดินไปต่อแถวเช่นกัน เธอกำลังจะเดินออกประตูไปแต่ถูกเรียกเสียก่อน

"อ้อย" เสียงแหลมเข้มเอ่ย

"คะ" เธอหันไปตอบ

"ไม่มาต่อแถวรับเงินล่ะ" อีกฝ่ายขวักมือเรียก

"อ้อยรับเป็นเดือนค่ะ" หล่อนบอกเรียบๆ

"ใครเขารับเป็นเดือนกัน" คิ้วสาวแกร่งขมวดกับการเลือกของเธอ

เด็กสาวไม่ได้ตอบ เพราะไม่รู้จะพูดอย่างไร ถ้าเธอรับเงินทุกวัน แม่ก็ต้องเอาไปหมดอย่างแน่นอน หล่อนจำได้ดีถึงคำพูดหลังจากบอกว่าได้งานแล้ว

"เขารับไหม" แม่ถามโดยไม่มองหน้าเธอ

"รับ" คนผมสั้นตอบเนือยๆ ไม่กระตือรือร้น

"ได้เงินวันละเท่าไหร่" สาวนิ่งมองหน้ามารดาด้วยความสงสัยว่าถามเพื่ออะไร

"150" เธอตอบสั้นๆ ตามเคย เท้ากำลังจะก้าวเดินต่อเพื่อจะได้อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า

"ได้เงินแล้วอย่ามุบมิบล่ะ" หล่อนรู้ว่าประโยคนี้หมายความว่าอย่างไร หญิงสาวไม่ตอบแต่สมองเธอคิดหนักว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ดี



"ฮัลโหล" เสียงสาวสูงวัยยกหูโทรศัพท์แล้วพูด

"ป้าแช่มใช่ไหมคะ" เสียงใสหวานถามด้วยความดีใจ

"ใช่ค่ะ นั่นคุณหนูใช่ไหมคะ" เธอถามด้วยความตื่นเต้น ปกติคุณท่านมักจะโทรหาคุณหนูเสียเอง หล่อนจึงไม่มีโอกาสได้พูดคุยเพราะเป็นเพียงคนรับใช้

"คิดถึงป้าจังค่ะ ข้าวอยู่ที่นี่คนเดียวเหงาจัง" วรดาเอ่ยด้วยน้ำเสียงเศร้าสร้อย

"โถ คุณหนู อดทนหน่อยนะคะ" หล่อนเห็นใจเด็กสาวแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรได้

"ค่ะป้า เดี๋ยวข้าวปิดเทอมจะรีบกลับบ้านเลยค่ะ" น้ำเสียงอีกฝ่ายดีขึ้น

"ป้าคะ ป้าช่วยส่งจดหมายที่ข้าวส่งไปที่บ้านให้กับอ้อยหน่อยนะคะ" ปลายสายไหว้วานเธอ

"ได้สิคะคุณหนู เด็กผู้หญิงข้างบ้านคนนั้นใช่ไหมคะ ที่มาบ้านเราบ่อยๆ" จรัสพรนึกถึงใบหน้าเปื้อนฝุ่นของคนร่างบางที่ผอมแทบปลิวลมซึ่งมาบ้านนี้บ่อยๆ ตลอดสามปีที่ผ่านมา แต่ตัวเธอนั้นไม่เคยเข้าไปยุ่ง เพียงแต่ทำอาหารไว้ให้คุณหนูข้าวแล้วเผื่อไว้ให้อีกคนเท่านั้น จึงไม่มีโอกาสได้พูดคุยอะไรนักรู้เพียงแต่ทั้งสองคบกันเป็นเพื่อน

"ใช่จ๊ะป้า อืม...แล้วต้องแอบให้นะคะ อย่าให้แม่อ้อยเห็น" วรดาพูดเสียงเบามีลับลมคมใน

"อ้าวทำไมล่ะคะ" หล่อนขมวดคิ้วโดยอัตโนมัติ ไม่เข้าใจถึงเหตุผล

"ป้าแช่มช่วยทำตามที่ข้าวบอกเถอะค่ะ อย่าถามเลย" ข้าวหอมไม่ยอมบอกเหตุผล หล่อนจึงไม่ซักไซร้ไปกว่านั้นเพราะไม่ใช่เรื่องของเธอ

"ค่ะ คุณหนู" สิ้นประโยคสายก็ถูกตัดไป



"หนูอ้อยๆ" เสียงเรียกที่ไม่คุ้นเคยดังขึ้นในตอนเช้าขณะที่ทิฆัมพรกำลังเดินออกจากบ้านเพื่อไปทำงานเช่นเคย

เด็กสาวหันไปมองต้นเสียงก็พบว่าเป็นคนของบ้านไม้ ผู้หญิงมีอายุซึ่งข้าวหอมเรียกว่าป้าแช่มกำลังโบกไม้โบกมืออยู่ที่ประตูหน้าบ้าน หล่อนเหลียวกลับไปมองดูภายในบ้านไม้ซอมซ่อของตัวเองพบว่าแม่ยังไม่ตื่นนอนจึงเดินไปหาสาวสูงวัย

"มีอะไรคะป้า" เดี๋ยวนี้เธอพูดจาเพราะๆ ได้คล่องขึ้น หลังจากฝึกกับข้าวหอมอยู่นาน

"คุณหนูฝากจดหมายมาให้ เพิ่งมาถึงเมื่อเย็นวาน ป้ารอจนมืดก็ไม่เห็นเลยเอามาให้วันนี้แทน" คนมีอายุบอก

"ขอบคุณค่ะป้า" เธอรับซองจดหมายสีฟ้ามา หัวใจที่แห้งแล้งชุ่มชื้นขึ้นทันที หล่อนเก็บใส่กระเป๋าเพื่อที่จะได้เอาออกมาอ่านในตอนพักกลางวัน



'คิดถึง
อ้อยเป็นยังไงบ้าง เราไม่ได้เจอกันตั้งครึ่งเดือนแล้ว ข้าวอยู่ที่นี่คนเดียวเหงามากเลย อยากให้อ้อยมาอยู่ด้วย มาทำงานที่นี่แทนก็ได้ กรุงเทพฯ งานเยอะแยะ...นะ ถ้าอ้อยตกลงปิดเทอมตอนข้าวกลับบ้านจะได้ไปกรุงเทพฯ ด้วยกัน
รู้ไหมเดี๋ยวนี้ไม่มีใครเขาเขียนจดหมายหากันแล้ว ทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือกันหมด อ้อยก็น่าจะมีสักเครื่อง ข้าวอยากซื้อให้แต่รู้ว่าอ้อยคงไม่ยอมรับอีกตามเคย ไม่เป็นไร เราติดต่อกันทางนี้ก็ได้
ที่กรุงเทพฯ คนเยอะแยะเต็มไปหมด เสียงดังด้วย ข้าวอยากกลับไปอยู่บ้านจัง อยากไปที่missแล้วนั่งข้างๆ อ้อยทุกวัน อ้อยคิดถึงข้าวบ้างไหม
ข้าวส่งแสตมป์มาในซองแล้วนะ อ้อยต้องตอบด้วย ที่อยู่ก็จ่าที่หน้าซองแล้ว อ้อ ห้ามเขียนสั้นเหมือนตอนพูดล่ะ
รักนะ
ข้าว'

จดหมายไม่สั้นไม่ยาวแต่ทำให้คนอ่านอมยิ้ม หล่อนนึกถึงเสียงอีกฝ่ายพูดได้อย่างชัดเจน ข้าวหอมเข้าใจเธอไปเสียหมด ทิฆัมพรก็ไม่เคยเขียนจดหมายหาใครเช่นกัน หล่อนไม่แน่ใจว่าจะสามารถเขียนได้ยาวอย่างที่คนสวยอยากให้ทำได้รึเปล่า แต่เธอคิดว่าจะลองพยายามดู




แสงไฟริบหรี่จากหลอดไฟกลมเล็กซึ่งแขวนอยู่กลางบ้านช่วยให้แสงสว่างมากพอที่เธอจะค้นเอาสมุดการบ้านที่ยังเหลือหน้าว่างอยู่มาเขียนจดหมายตอบแฟนสาว

หล่อนหยิบปากกาด้ามเก่าขึ้นมา หลังจากนิ่งอยู่สักพักจึงเริ่มขีดเขียนอักษรลงไปอย่างช้าๆ และต่อเนื่องลื่นไหล

"ถึง ข้าวหอม
อ้อยสบายดี ทุกอย่างก็เหมือนเดิม อย่างที่ข้าวรู้น่ะแหละ อ้อยได้งานที่ไร่ผลไม้ใกล้บ้าน ถ้าเห็นอ้อยตอนนี้ข้าวคงจำไม่ได้
เขียนจดหมายก็มีข้อดีนะ เพราะสามารถอ่านซ้ำได้ไม่เหมือนการโทรศัพท์ที่ฟังได้เพียงรอบเดียว
อ้อยอยากไปนะแต่แม่คงไม่ยอม ส่วนเหตุผลอย่าให้อ้อยบอกเลย อ้อยไม่อยากพูดจาไม่ดีให้ข้าวฟัง ไว้สักสองสามปีให้ข้าวเรียนม.ปลายจบแล้วค่อยมาถามอ้อยใหม่ดีไหม
เดี๋ยวอีกสามเดือนก็ได้เจอกันแล้ว คิดถึงข้าวเช่นกัน
อ้อย'

เธอพับกระดาษให้พอดีซองจดหมายที่ทำขึ้นเองจากกระดาษรายงานที่เหลือ ปิดผนึกพร้อมกับติดแสตมป์ หล่อนจะส่งมันในวันพรุ่งนี้ก่อนจะไปทำงาน หญิงสาวยิ้มอย่างมีความสุขก่อนจะหลับไปด้วยความเหนื่อยอ่อนจากการทำงานหนักมาทั้งวัน



ในที่สุดเดือนแรกของการทำงานก็ผ่านพ้นไป มือของเธอสากขึ้นแต่ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือสีผิว แม้หล่อนไม่ใช่คนขาวแต่ก็ไม่ได้ดำอะไร ถ้าข้าวมาเห็นตอนนี้คงจะจำแทบไม่ได้เพราะผิวเกรียมแดดจนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงทั้งตัว คนงานคนอื่นใส่เสื้อผ้ามิดชิดกันหมดยกเว้นเธอเพราะไม่มีเสื้อผ้าแบบอื่นเลย มีเพียงเสื้อยืดกางเกงขาสั้นเท่านั้น

เมื่อเลิกงานเธอเดินไปต่อแถวรับเงินเหมือนคนอื่นเป็นวันแรก หล่อนรู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อยที่จะได้เงินก้อนแรกในชีวิต

แบงค์พันสี่ใบกับแบงค์ห้าร้อยหนึ่งใบอยู่ในมือ เด็กสาวรู้สึกภูมิใจในตัวเอง ขากลับหล่อนแวะซื้อเสื้อผ้าที่ตลาดใกล้บ้านเพื่อจะได้ไม่ต้องทนแดดร้อนเหมือนเดือนที่ผ่านมา จากนั้นนำเงิน 2 พันไปเปิดบัญชีธนาคาร ที่บ้านของเธอไม่มีที่ให้เก็บซ่อนเงิน ถ้าไม่ทำอย่างนี้ก็คงต้องให้แม่ทั้งหมดไม่เหลือไว้ใช้จ่ายหรือซื้ออะไรเลย

"ไหนล่ะเงิน" ประโยคแรกที่มารดาเธอพูดเมื่อกลับถึงบ้านหลังจากฟ้ามืดไปนานแล้ว

คนผมยาวประบ่ายื่นเงินทั้งหมดที่เหลือให้ ส่วนบัญชีธนาคารหล่อนเอาถุงพลาสติกที่ใส่เสื้อผ้าห่อไว้แล้วเอาไปซ่อนที่รากต้นmissเรียบร้อย เอาใบไม้ที่พื้นกลบเพื่อไม่ให้ใครเห็นก่อนที่จะแวะกลับบ้านแล้ว

"ทำไมมีแค่ 1,200 อีก 2,300 หายไปไหน" เสียงคนตรงหน้าเอาเรื่อง

"ค่าข้าวแล้วก็เสื้อผ้า" เธอตอบสั้นๆ พอให้รู้ว่าเงินที่เหลือหายไปไหน หล่อนโกหกแนบเนียนด้วยน้ำเสียงราบเรียบเช่นเคย ปกติหล่อนไม่โกหกแต่เลือกที่จะไม่ตอบมากกว่า แต่ในกรณีนี้ถ้าไม่ตอบเหมือนเคยแม่คงไม่ยอมปล่อยไปง่ายๆ

"อย่าให้รู้ว่าแกแอบซ่อนไว้นะ ไม่งั้นแกโดนดีแน่" สาวร่างอวบอ้วนขู่ทิ้งท้ายก่อนมืออูมจะเก็บเงินลงกระป๋องแล้วถือกลับเข้าไปในบ้าน

แม้แม่จะไม่พูดอย่างนี้ออกมา ทิฆัมพรก็รู้ว่าต้องโดนอะไรบ้างถ้าอีกฝ่ายจับได้ จริงๆ เธอทนได้อยู่แล้วไม่ว่าจะเจออะไร แต่ที่สำคัญคือเงินที่แอบเก็บไว้คงต้องถูกเอาไปด้วย เรื่องนี้ต่างหากที่หญิงสาวไม่อาจยอมได้ มันเป็นทางที่เธอจะได้ไปจากที่นี่ในอนาคต




email+facebook : N.Rattanawadikant@gmail.com
fanpage : www.facebook.com/อาพัทธ์-อันธการ/107884562739822

 

Powered by EzPortal
    ต้นฉบับในเว็บไซต์เป็นลิขสิทธิ์ของผู้แต่งต้นฉบับที่นำมาลง
    copyright © Yuriread.com All rights reserved.