ตอนที่ 1
“หมอ หมอครับ หมอ” เสียงตะโกนโหวกเหวกที่หน้าบ้าน ไม่ได้ผ่านเข้ามาโสตประสาทของคนบนเตียงสักนิด เสียงนั้นเงียบไปแล้ว
แสงแดดยามสายส่องผ่านรอยแยกของผ้าม่านเป็นลำแสงพาดมายังร่างที่ยังนอนหลับใหลอยู่บนเตียง และยังทำให้เห็นละอองฝุ่นล่องลอยคละคลุ้งอยู่กลางอากาศ ข้าวของในห้องยังวางกระจัดกระจาย เหมือนห้องนี้ไม่ได้เก็บกวาดทำความสะอาดมานาน เนคไทสีชมพูพาดอยู่ปลายขอบเตียงอย่างหมิ่นเหม่ ส่วนสูทตัวเท่ ราคาแพงกองอยู่ที่พื้นปลายเตียง เพียงเท่านี้ก็บ่งบอกแล้วว่าเมื่อคืนนี้เจ้าของห้องคงกลับมาในสภาพที่ล้าเต็มที
แสงแดดที่แยงตาไม่มีผลให้เจ้าตัวรู้ว่าเวลานี้กี่โมงกี่ยามไปแล้ว พอแดดส่องตาก็ซุกหน้าหลบกับหมอนและหลับต่อ
“หมอ หมอโว้ย หมอ ตื่นหรือยัง หมอ หมอโว้ย” คราวนี้เสียงเรียกชื่อดังมาอีกครั้งพร้อมกับเสียงทุบประตูที่ชั้นล่างราวกับจะพังบ้านเข้ามา
“หมอ หมอ หมอ” เสียงนั้นทั้งตะโกน ทั้งทุบประตูบ้านโครมคราม จนคนในละแวกนั้นพากันเปิดบ้านออกมาดู
คนที่อยู่บนเตียงได้ยินเสียงเหมือนใครเรียกอยู่หน้าบ้าน สงสัยฝันไป อาชีพอย่างนี้ก็ฝันว่ามีคนมาเรียกให้ไปรักษาอยู่บ่อย ๆ อยู่แล้ว ฝันซ้ำซากจนบางครั้งแยกไม่ออกว่าครั้งไหนจริงครั้งไหนฝัน
“หมอรัญโว้ย ตื่นๆ ๆ ๆ ๆ เคสด่วนๆ ๆ ๆ ๆ” เสียงตะโกนซ้ำ ๆ พร้อมกับเสียงทุบประตูบ้านรัว ๆ คราวนี้ คนที่นอนบนเตียงเริ่มรู้สึกแล้วว่าไม่ใช่ความฝัน เพราะเสียงเรียกนั้นตะโกนชื่อตัวเองอย่างชัดเจน
เอาหน้าออกจากหมอน แล้วผงกหัวดูนาฬิกา ได้ยินเสียงพระตีกลองเพลมาพอดี พอเห็นเข็มนาฬิกาก็รีบผวาลุกขึ้น ด้วยความตกใจ แล้วก็หยุดชะงักนิ่งคิด วันนี้วันอาทิตย์ ไม่ใช่วันทำงาน ถอนหายใจอย่างโล่งอก แต่เสียงเรียกและเสียงทุบประตูยังดังมาไม่หยุด
“ใครบังอาจมารบกวนในวันหยุดแบบนี้” เดินไปที่ระเบียงห้องและชะโงกลงไปซึ่งจะทำให้มองเห็นคนที่หน้าประตูบ้านชั้นล่างโดยยังไม่ต้องลงไปเปิดประตู
“มีอะไร จะพังบ้านกันหรือไง” เธอตะโกนลงไป ทำให้คนที่กำลังตะโกนปลุกและทุบประตูรีบวิ่งออกมาสนามหญ้าหน้าบ้านเพื่อเงยหน้าขึ้นมาคุยกับเธอ เขายังอยู่ในชุดเสื้อกล้าม ผ้าขาวม้า หน้าตาผมเผ้ายุ่งเหยิง บ่งบอกว่าคงพึ่งตื่นนอนก่อนเธอไม่นานหรืออาจจะตื่นแล้วลุกจากเตียงมาเลยทันที
“เด็กตกต้นไม้เหล็กคาขา ป้ามลเตรียมห้องผ่าตัดรอแล้ว” เขารีบตะโกนบอกธุระสำคัญที่ทำให้ต้องมาทุบบ้านเธออยู่แบบนี้
“เฮ้ย เป็นไรมากไหม ขอเวลาสิบนาที” ทันทีที่ได้ยินแบบนั้น สัญชาตญาณหมอก็ทำงานทันที คำว่าขอเวลาสิบนาทีหมายความว่าอีกสิบนาทีเธอต้องถึงห้องผ่าตัดแล้ว
“เร็ว ๆ นะหมอ เด็กเสียเลือดมากแล้วกว่าจะมาถึงโรงพยาบาล” เขาตะโกนสำทับตามหลัง
หมอรัญหรือรัญรัมภา วิ่งกลับเข้ามาในห้องนอน เสื้อเชิ้ตสีครีมชมพูที่ใส่เป็นเสื้อตัวในถูกถอดเหวี่ยงไปทาง กางเกงขายาวแนบเรียวขาสีเดียวกัน กลายเป็นกองผ้าอยู่อีกทาง ทุกอย่างของการอาบน้ำต้องเสร็จภายในห้านาที และอีกห้านาทีเป็นเวลาสำหรับที่จะวิ่งไปโรงพยาบาล
“แล้วเทิดทูนเข้ามาได้ไง รั้วบ้านล็อคอยู่” รัญรัมภายังมีแก่ใจคิดถึงคนที่มาเรียกเธอ คว้าผ้าเช็ดตัวพันร่างกายแล้ววิ่งกลับมาที่ระเบียง ทันเห็นเทิดทูน พยาบาลชายคู่ใจที่พันผ้าขาวม้าเหน็บเป็นโจงกระเบนกำลังปีนรั้วกลับออกไป
“มาทางไหนกลับทางนั้นก็แล้วกัน” รัญรัมภารีบวิ่งกลับเข้ามาอาบน้ำอย่างเร็วที่สุด
บ้านพักนี้อยู่เยื้องมาด้านหลังโรงพยาบาล เป็นบ้านที่เธอซื้อส่วนตัวตั้งแต่สามปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ย้ายมาเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลชุมชนแห่งนี้ ความจริงมีบ้านพักในโรงพยาบาลให้ แต่เธอไม่อยากเบียดเบียนเจ้าหน้าที่คนอื่นที่มีความจำเป็นมากกว่า รวมทั้งเทิดทูนที่วิ่งมาตามเธอเมื่อสักครู่ที่อยู่กันเป็นครอบครัวสี่คนพ่อแม่ลูกแล้ว เขาเป็นทั้งคู่หูในยามทำงานออกชุมชนและเพื่อนกินเพื่อนเที่ยวหลังจากเลิกงาน
เธอตัวคนเดียว และมากับความพร้อมทุกอย่าง บ้านหลังนี้เจ้าของเก่าขายให้ในราคาไม่กี่แสน แต่เธอก็มาปรับปรุงใหม่อีกหลายแสนจนเป็นบ้านสวยในฝันของคนที่ผ่านพบเห็น
ใครก็รู้ว่าหมอรัญนั้นไม่ใช่ธรรมดา ยิ่งเห็นนามสกุลยิ่งรู้ว่าเธอน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าของโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังที่มาตั้งสาขาอยู่ในตัวจังหวัด แต่ผ่านมาสามปีทุกคนก็ยังไม่มีใครเข้าใจว่าทำไมหมอรัญเลือกที่จะมาทำงานประจำที่โรงพยาบาลชุมชนเล็ก ๆ ขนาดเพียง 60 เตียง และค่อนข้างห่างไกลความเจริญนี้
ทีแรกใคร ๆ ก็คิดเพียงว่าเธอมาเพื่อใช้ทุนให้หมดแล้วคงขอย้ายกลับกรุงเทพ หรือไม่ก็ลาออกไปทำงานโรงพยาบาลที่เจ้าของนามสกุลเดียวกัน แต่ผ่านวันแล้ววันเล่าหมอรัญก็ยังทำงานที่นี่อย่างมีความสุขและไม่มีวี่แววว่าจะขอย้ายไปไหน คนสงสัยจนเลิกสงสัย แล้วก็กลายเป็นสบายใจถ้ามาตรวจแล้วเจอหมอรัญ นั่นหมายถึงการที่ได้รับการรักษาและยาที่ดีที่สุดอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่แบ่งแยกว่ายากดีมีจน
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สิบนาทีอย่างที่บอกไว้ รัญรัมภาในชุดลำลองแต่เรียบร้อยก็มาถึงโรงพยาบาล ใบหน้าปราศจากเครื่องสำอางแต่งแต้มเต็มไปด้วยเหงื่อจากการวิ่งมาแทนการขับรถที่จะเสียเวลาทั้งเปิดปิดประตูบ้าน และการขับอ้อมไปเข้าประตูหน้าโรงพยาบาล แต่ประตูหลังจะทางแคบ ๆ และประตูเล็กที่เปิดไว้ให้เจ้าหน้าที่เข้าออกสะดวกกว่า
“ป้า เด็กเป็นไงบ้าง” รัญรัมภาถามป้าพยาบาลด้วยเสียงหอบเหนื่อยพร้อมกับซับเหงื่อบนใบหน้าไปด้วย
“ยังไหวอยู่ค่ะ ป้าให้พยาบาลเตรียมห้องผ่าตัดไว้แล้ว” ป้ามลหรือคุณนฤมล หัวหน้าพยาบาลเก่าแก่รายงานให้เธอค่อยสบายใจ
ถาดใส่ขนมหวานทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทองและเค้กชอคโกแลตชิ้นเล็ก ๆ พร้อมกาแฟร้อนถูกจัดเตรียมไว้ให้เรียบร้อย ป้ามลคนนี้รัญรัมภามักชอบเรียกว่าป้ามลคนรู้ใจ เพราะเวลาทำงานด้วยกันเหมือนไม่ต้องคิดเลยว่าจะทำอะไรต่อ เพราะป้ามลเตรียมการไว้ให้เรียบร้อย หน้าที่ของเธอคือรักษาคนไข้ให้ดีที่สุดเท่านั้นหากทำงานเจอป้ามล
รัญรัมภานั่งพักให้หายเหนื่อย ถ้าป้ามลบอกว่ายังไหวก็แสดงว่าไม่เป็นไร แต่ที่พยาบาลชายคู่ใจบอกเหมือนกับว่าอาการหนักหนาสาหัสกว่านี้ เธอจึงรีบรี่มาทันที ยกแก้วกาแฟขึ้นมาดูแล้วก็ต้องเบ้หน้า กาแฟกึ่งสำเร็จรูปที่ไม่เคยชอบเลย ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ จะไม่ดื่มให้เสียปากหรอก แต่มีขนมหวานมาพอช่วยให้ฝืนดื่มกาแฟนั้นได้ ขนมหวานเหล่านี้เป็นชาวบ้านทำเอง ราคาย่อมเยาแต่เธอว่าอร่อยกว่าของแพงในร้านขนมชื่อดังในกรุงเทพเสียอีก
ทานขนมหวานและกาแฟเรียบร้อยก็นั่งพักทำสมาธิอีกสักครู่ ทุกครั้งของการผ่าตัดไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต้องให้ความปลอดภัยเป็นอันดับแรกเสมอ คนไข้พร้อมรับการผ่าตัด ร่างกายและจิตใจของแพทย์ยิ่งต้องพร้อมกว่า กาแฟและขนมหวานนั้นจำเป็นสำหรับการดื่มมาอย่างหนักจากเมื่อคืนและได้นอนไม่เต็มตื่นดีนัก
เมื่อรู้สึกว่าพร้อมแล้ว รัญรัมภาก็คว้าชุดสำหรับใส่ผ่าตัดที่ป้ามลจัดมาให้มาสวมใส่ เก็บผมในหมวกให้เรียบร้อย คาดผ้าปิดปากปิดจมูกจนเหลือแต่ดวงตา หากใครมาเห็นตอนนี้จะไม่คิดเลยว่านี่คือหมอรัญรัมภาที่ร่าเริง สนุกสนาน ใช้ชีวิตสุขสำราญไปวัน ๆ เพราะชีวิตไม่มีใครและไม่มีอะไรต้องรับผิดชอบมากไปกว่าการทำหน้าที่รักษาคนไข้ หากมองแต่แววตาตอนนี้จะพบว่ามันมีความเศร้า ความเหงา ความมุ่งมั่น และความเด็ดเดี่ยวบางอย่างระคนกันแฝงอยู่ แต่จะมีใครมาดูตาเธอตอนนี้ หน้าที่การเป็นหมอมันปกปิดทุกอย่างไว้จนไม่มีใครได้สังเกตแววตาเธอ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
การผ่าตัดผ่านไปด้วยดี เวลาที่คิดว่าผ่านไปไม่นาน แต่เมื่อออกจากห้องผ่าตัดมาก็พบว่าเธอใช้เวลาเกือบสองชั่วโมงในการผ่าตัดเอาเหล็กแหลมที่เสียบทะลุขาของเด็กออกมาได้ แม้มันจะเสียบแบบแทงทะลุ ซึ่งผ่าตัดง่ายกว่าแบบแทงคาเข้าไปข้างใน แต่รัญรัมภาก็พยายามรักษาอย่างดีที่สุด เพื่อให้มีรอยแผลเป็นน้อยที่สุด เมื่อเด็กโตไปจะได้ไม่มีรอยแผลเป็นหน้าเกลียดที่ขา เธอไม่เคยบอกใครเลยว่าจบเฉพาะทางศัลยแพทย์และสอบได้อันดับต้น ๆ ของรุ่นด้วยซ้ำ มันไม่สำคัญว่าจะเป็นหมอที่เก่งแค่ไหน แต่สำคัญว่าเธอต้องรักษาให้สุดฝีมือทุกครั้งที่ต้องผ่าตัด
รัญรัมภาออกมานั่งพักที่ห้องพักแพทย์ วันนี้วันอาทิตย์ทุกอย่างรอบตัวเงียบสนิท มีเพียงเจ้าหน้าที่กับพยาบาลประจำห้องฉุกเฉินเท่านั้นที่มาเข้าเวรกันอย่างเหงา ๆ กับญาติที่มาเฝ้าไข้คนป่วยไม่กี่ราย
โรงพยาบาลชุมชนแห่งนี้มีเพียง 60 เตียง มีแพทย์รักษาโรคทั่วไปประจำเพียง 4 คน และหนึ่งในสี่นั้นก็ควบตำแหน่งผู้อำนวยการ รัญรัมภาจบเฉพาะทางศัลยแพทย์ แต่เมื่อทำงานที่นี่หน้าที่เธอก็เหมือนแพทย์ทั่วไป ไม่ใช่อยู่เฉพาะทางเหมือนในโรงพยาบาลใหญ่ เมื่อก่อนไม่มีการผ่าตัด แต่พอรัญรัมภามาเป็นแพทย์ประจำก็จึงเปิดผ่าตัดหัตถการได้ ทำให้ชาวบ้านที่ต้องผ่าตัดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ต้องไปคอยคิวที่โรงพยาบาลใหญ่หลายวันหรืออาจจะเป็นเดือน และที่สำคัญเธอช่วยให้ชาวบ้านรอดตายจากไส้ติ่งอับเสบได้หลายราย เพราะกว่าที่ชาวบ้านจะมาหาหมอก็มักจะปวดท้องจนวิกฤตแล้ว
ความรู้สึกตรงนี้เป็นสิ่งที่คุ้มค่า ที่ทำให้เธอสามารถอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากความหรูหราสะดวกสบายได้อย่างมีความสุข และหากเป็นไปได้ก็อยากจะอยู่ที่นี่ตลอดไป เป้าหมายลึก ๆ ที่ฝันไว้คือได้เกษียณที่นี่ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล เธอเอามันมาเป็นสิ่งจูงใจให้ทำงานอย่างเต็มที่
“เด็กมีอาการผิดปกติอะไรไหมคะ” รัญรัมภาถามป้ามลที่เอาเอกสารเกี่ยวกับการผ่าตัดมาให้บันทึกและเซ็นชื่อกำกับตามระเบียบ
“ไม่มีค่ะ แต่ว่ายังไม่ฟื้นดี” ป้ามลตอบขณะที่ยืนรอเธอเขียนบันทึกต่าง ๆ สำหรับการผ่าตัดฉุกเฉินในวันหยุดนี้
“นั่งสิคะป้า” รัญรัมภาเงยหน้าขึ้นมาเมื่อเห็นว่าป้ามลยังยืนมองเธอเขียนบันทึกอยู่
“ค่ะ ค่ะ” ป้ามลก็เหมือนนึกได้ว่าเผลอยืนมองหมอมากไป ครั้นนั่งลงแล้วก็ยังไม่วายลอบมองด้วยความสงสัยอะไรบางอย่าง
“เออ วันนี้ทำไมป้ามาอยู่เวรล่ะคะ ป้าไม่ต้องขึ้นเวรแล้วนี่”
รัญรัมภาพูดในขณะที่ยังก้มหน้าก้มตาเขียนบันทึกรายงานอยู่ ป้ามลเป็นหัวหน้าพยาบาลเก่าแก่ที่แม้แต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยังต้องเกรงใจ ในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่และอยู่มานานจนรู้ทุกกิจการของโรงพยาบาลทั้งหมด หากใครมีเรื่องใดสงสัยให้ถามป้ามลคนเดียวพอ
“พวกเด็ก ๆ เขาอยากไปดูหนังในจังหวัดกัน อยากไปกันครบทีม ป้าเลยมาอยู่เวรแทนให้ค่ะ” ป้ามลตอบอย่างไม่ยินดียินร้าย จะว่าเบื่อหน่ายก็ไม่ใช่ จะว่าเต็มใจก็ไม่เชิง
เด็ก ๆ ของป้ามลก็คงเป็นพยาบาลกลุ่มหนึ่งที่เรียนจบมาจากสถาบันเดียวกัน มักจะชอบไปเที่ยว ไปทำกิจกรรมด้วยกันเสมอ ตามประสาการมาอยู่ในท้องที่ที่ไม่มีแสงสี สิ่งที่ช่วยให้คลายเหงาได้ก็คือเพื่อน
“เขากล้ามาขอป้าเหรอค่ะ” รัญรัมภาพูดยิ้ม ๆ
ใคร ๆ ก็รู้ว่าป้ามลเป็นคนอย่างไร ใครทำงานช้า ไม่ใส่ใจคนไข้ได้โดนด่ากระเจิดกระเจิงตรงนั้น รักษากฎระเบียบทุกอย่างอย่างเคร่งครัด เน้นการให้บริการคนไข้อย่างดีที่สุด พยาบาลคนไหนตวาดคนไข้ ทำหน้าหงิกหน้างอเวลาใครมาถามอะไร อย่างให้ป้ามลรู้เชียว ได้ถูกเรียกไปอบรมกันยกใหญ่ นี่คือสิ่งที่ทำให้รัญรัมภาทำงานได้ถูกคอกับป้ามลคนรู้ใจของเธอ
“ไม่มีใครกล้าขอหรอกค่ะ เผอิญป้าผ่านไปได้ยินเจ้าคนที่ต้องอยู่เวรโอดครวญเหมือนจะขาดใจตายถ้าไม่ได้ไปกับเพื่อน ๆ ป้ารำคาญเลยให้ไป ไม่ต้องมาขึ้นเวรวันนี้” น้ำเสียงป้ามลเริ่มมีความหงุดหงิดเจือปน
แต่รัญรัมภารู้ว่าป้ามลแค่ทำเป็นคนดุ เจ้าระเบียบเพื่อการปกครองเท่านั้น แท้จริงป้ามลก็เห็นใจพยาบาลจบใหม่ที่ต้องมาทำงานในพื้นที่แบบนี้ แทนที่จะได้อยู่ในเมืองที่สะดวกสบาย เหมือนที่ตอนเธอมาอยู่ใหม่ ๆ ป้ามลก็คอยมาถามไถ่ กลัวอยู่ไม่ได้ แล้วเธอก็ได้ตามป้ามลไปตลาดตอนเช้า จึงทำให้พบว่าอาหารการกินไม่ได้ลำบากเลยสักนิด ตลาดเช้ามีข้าวปลาอาหาร ขนมนมเนยแบบชาวบ้านมาขายมากมาย เพียงแต่มันไกลโรงพยาบาลไปนิด วันไหนขี้เกียจก็หากินในโรงพยาบาลหรือใกล้ ๆ ไปตามที่มี
“เรียบร้อยค่ะ เดี๋ยวหมอจะไปดูเด็กหน่อยนะคะ น่าจะฟื้นแล้ว” รัญรัมภาส่งสมุดบันทึกประวัติผู้ป่วยคืน ป้ามลรับไป ลุกขึ้นยืนรอหมอรัญให้จัดเสื้อผ้าให้เรียบร้อยแล้วเดินออกไปพร้อมกัน
ป้ามลแวะเข้าห้องทำงาน รัญรัมภาตรงไปที่ห้องพักคนไข้รวม เด็กชายตัวผอมแกร็นที่พึ่งผ่านการผ่าตัดนอนอยู่ที่เตียงด้านในสุด
แรก ๆ ที่มาทำงานรัญรัมภาตกใจกับภาวะโภชนาการของเด็กที่นี่ที่ส่วนใหญ่ขาดสารอาหาร ในขณะเด็กที่โรงพยาบาลในกรุงเทพที่เธอเคยอยู่มาก่อนกลับมีปัญหาตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่หลายคนที่นี่ก็มีภาวะขาดสารอาหารเช่นกัน ที่นี่ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง ดังนั้นมันจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหมอแต่ละคนว่าจะดูแลคนไข้แค่ไหน เธอเบิกยาบำรุงยกใหญ่จนผู้อำนวยการโรงพยาบาลเรียกไปสอบถาม พอได้ความจึงได้ทำโครงการออกให้ความรู้เรื่องโภชนาการแก่ชาวบ้าน แม้มันจะไม่ได้ผลมากนัก เพราะส่วนใหญ่ก็หาเช้ากินค่ำตามมีตามเกิด แต่ก็ทำให้ชาวบ้านหลายคนเปลี่ยนนิสัยการกินได้บ้าง รวมทั้งโรงเรียนก็ใส่ใจโครงการอาหารกลางวันเด็กมากขึ้น
แต่สิ่งที่ได้มากกว่าสำหรับตัวเธอเองคือทำให้เข้าใจชีวิตคนอื่นมากขึ้น เห็นความทุกข์ของคนอื่นมากขึ้น เธอไม่ใช่หมอแสนดี ไม่ได้มีชีวิตที่งดงามตามกรอบศีลธรรมจรรยาบรรณ แต่ก็ตั้งใจมุ่งมั่นที่จะดูแลชาวบ้านแถวนี้ให้ดีที่สุด เป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่คิดที่จะขอย้ายไปโรงพยาบาลใหญ่และไปอยู่เฉพาะในแผนกเฉพาะทางที่เธอจบมา
แวะทักคนไข้เตียงอื่น ๆ ไปเรื่อย หมอรัญเป็นหมอนางฟ้าสำหรับชาวบ้านแถวนี้ หน้าตาสวย จิตใจดี พูดจาไพเราะ ไม่รังเกียจคนไข้ที่แม้แต่ใคร ๆ ก็เบือนหน้าหนี หมอรัญคนนี้เคยแม้กระทั่งช่วยเปลี่ยนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้ในวันที่มีคนไข้มามากแล้วพยาบาลดูแลไม่ทัน ดังนั้นชีวิตด้านอื่นที่มีคนเอาไปนินทาจึงกลายเป็นว่าคนนินทาถูกตำหนิเสียเอง
“หมอ เอามะม่วงไปกิน หลานยายเขาเก็บมาเยอะแยะเลย” คุณยายที่เป็นโรคคนแก่เรื้อรังหลายโรคต้องเข้าออกโรงพยาบาลประจำหยิบถุงใส่มะม่วงน้ำดอกไม้ลูกใหญ่หลายลูกที่กำลังสุกน่ากินส่งให้เธอ
“คุณยายกินไม่ได้นะคะ ให้หลานเก็บมาทำไม” รัญรัมภายังไม่รับถุงมะม่วงแต่เผลออุทานกึ่งดุคุณยายไปก่อน
“ยายให้เก็บมาให้พยาบาลกับหมอ ยายไม่ได้กิน ให้คุณนฤมลไปสองถุงแล้ว เหลือถุงนี้ไว้ให้หมอ วันนี้กำลังกินดีเลย พรุ่งนี้มันจะงอมไป โชคดีที่หมอมาวันนี้” คุณยายไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหมอดุ แกยังพูดไปยิ้มไปและพยายามยื่นถุงมะม่วงมาให้เธอ
“ขอบคุณค่ะ” รัญรัมภายกมือไหว้ ยิ้มเก้อ ๆ และรับถุงมะม่วงมา คุณยายอุตส่าห์มีน้ำใจเธอกลับคิดไปไกลเสียก่อน
เอาถุงมะม่วงไปฝากไว้ที่ห้องพักพยาบาลด้านหน้าและก็เห็นว่ามีจานเปล่าที่คงเคยมีมะม่วงน้ำดอกไม้สุกแบบเดียวกันนี้วางอยู่ก่อนแล้ว
“หมอจะกินเลยหรือเปล่าคะ เดี๋ยวเจี๊ยบปอกให้” พยาบาลที่นั่งทำงานอยู่อาสาด้วยความเต็มใจ
“ยังก่อนค่ะ ยังไม่ได้กินข้าวเลย เดี๋ยวไปดูเด็กที่พึ่งผ่าตัดก่อน”
รัญรัมภาเดินกลับเข้ามาในห้องพักคนไข้รวมอีกครั้ง คราวนี้ที่เตียงเด็กคนนั้นมีผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ข้าง ๆ มองจากด้านหลังเห็นผมยาวมัดรวบไว้เป็นหางม้า การแต่งกายก็ดูง่าย ๆ ใส่เสื้อยืด กางเกงขาสั้นสามส่วน และสวมรองเท้าแตะ แต่ก็ดูผิดไปจากเด็กคนที่ตกต้นไม้
“เป็นอย่างไงบ้างลูก เดี๋ยวยายมานะ เจ็บมากไหม” ผู้หญิงคนนั้นลูบศีรษะเด็กชายอย่างอ่อนโยน
รัญรัมภาได้ยินคำเรียกเด็กชายก็เข้าใจได้ว่าคงเป็นแม่ของเด็กคนนี้นี่เอง พอมาพิจารณาใกล้ ๆ ก็ทำให้หงุดหงิดขึ้นมา เป็นแม่ประสาอะไรปล่อยให้ลูกมาเล่นซนไม่ดูแล และเมื่อพิจารณาทั้งผิวพรรณและการแต่งกายก็ยิ่งทำให้หงุดหงิด เด็กชายผิวดำกร้านและมีแต่ขี้ไคลราวกับไม่เคยอาบน้ำฟอกสบู่ ผมเกรียนสั้นนั้นก็คงไม่เคยได้ถูกยาสระผม อีกทั้งเล็บมือเล็บเท้าก็ยังยาวดำสกปรก แถมเสื้อผ้าที่เธอเห็นพยาบาลเปลี่ยนเก็บไว้ให้ก็ทั้งเก่าทั้งขาดปะชุนหลายที่ ส่วนตัวคนเป็นแม่กลับใส่เสื้อผ้าใหม่ สะอาดสะอ้าน ผิวพรรณก็คงบำรุงอย่างดี มือเรียวสวยที่ลูบศีรษะลูกอยู่นั้นก็ตัดเล็บสั้นขาวสะอาด อีกทั้งผมที่รวบเป็นหางม้าก็สละสลวย คงห่วงแต่ความสวยตัวเอง
“เจ็บแผลไหมครับ ปวดหัวไหม” รัญรัมภาถามเด็กคนไข้เพื่อให้ผู้หญิงคนนั้นรู้ว่าเธอเป็นหมอและยืนอยู่ข้างหลัง
เด็กชายยกมือไหว้และส่ายหน้า แกคงยังไม่หายมึนงงจากฤทธิ์ยาตอนผ่าตัด
ผู้หญิงคนนั้นหันมายกมือไหว้ แต่ยังไม่ทันได้พูดอะไร รัญรัมภากลับเรียกพยาบาลที่กำลังวัดไข้วัดความดันเตียงอื่นอยู่ให้มาหาเธอ
“เจี๊ยบ เดี๋ยวถ้าวัดไข้เตียงนี้แล้วไม่มีอะไร เจี๊ยบช่วยเช็ดตัวให้ดีและสระผมให้เด็กด้วยนะ แล้วก็ตัดเล็บทั้งมือทั้งเท้าให้สะอาดด้วย”
รัญรัมภาสั่งพยาบาล ที่ทำหน้างง ๆ ปกติหน้าที่พยาบาลก็ต้องเช็ดตัวทำความสะอาดคนไข้อย่างดีอยู่แล้ว และเป็นคนไข้เด็กต่างจังหวัดแบบนี้ พยาบาลเห็นมีอะไรไม่สะอาดก็จัดการตามหน้าที่เหมือนกันหมด เล็บยาวก็ตัดเล็บให้เป็นธรรมดา ไม่ใช่เรื่องที่หมอรัญน่าจะต้องมาสั่งพิเศษ เพียงแต่เด็กคนนี้พึ่งผ่าตัดออกมา แค่รอให้ฟื้นตัวดีก่อนเท่านั้นเอง
“ค่ะ หมอ” พยาบาลรับปาก
“ถ้าปวดหัว ปวดแผล หรือไม่สบายตรงไหน บอกพยาบาลเลยนะคะ แล้วพรุ่งนี้หมอจะมาหาใหม่นะ” รัญรัมภาพูดกับคนไข้ โดยไม่สนใจผู้หญิงที่ยืนเก้ ๆ กัง ๆ อยู่ตรงนั้น พูดจบก็เดินออกไปทันที
“อย่าถือสาหมอรัญเลยนะคะ เขาเป็นแบบนี้แหละ” พยาบาลหันมาพูดกับผู้หญิงคนนั้น ก่อนจะขอตัวไปตรวจคนไข้เตียงอื่นก่อน
ผู้หญิงคนนั้นพยักหน้าและยิ้มให้ พอคล้อยหลังพยาบาลไป เธอก็ได้แต่มองไปที่ทางเดินอย่างไม่พอใจ หมออะไรไม่คิดจะสนใจคนอื่นเลยสักนิด คิดแต่ว่ามีหน้าที่รักษาคนไข้ แล้วเด็กบ้านนอกมันสกปรกมอมแมมน่ารังเกียจมากหรือไร เขาไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทองเหมือนหมอหรอกนะ เคยได้ยินมาเหมือนกันว่าหมอรัญที่โรงพยาบาลนี้บ้านรวยมาก แต่กลับยอมมาลำบากเป็นหมออยู่ที่นี่ ไม่คิดว่าจะเป็นคนนี้และเป็นคนแบบนี้ นี่หรือยอมมาลำบาก อะไร ๆ ก็สั่งพยาบาลทำทั้งนั้นแหละ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
รัญรัมภากลับมาที่ห้องพักแพทย์พร้อมกับถุงมะม่วงน้ำดอกไม้ จะกินอย่างไงล่ะทีนี้ มีดก็ไม่มี จานก็ไม่มี จะถือกลับไปปอกกินเองที่บ้านมันก็ยิ่งขี้เกียจ เมื่อนึกถึงงานบ้านที่รออยู่ เพราะคนที่จ้างมาทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า รีดผ้าทุกวันเสาร์อาทิตย์ขอลาพาลูกไปหาสามีที่ทำงานอยู่กรุงเทพในสัปดาห์นี้ ทั้งที่ก็อยู่คนเดียวทำไมบ้านถึงรกและสกปรกเมื่อไม่ได้ทำความสะอาดแค่อาทิตย์เดียวเอง
วางถุงมะม่วงแล้วก็นั่งพัก กาแฟและขนมหวานที่ทานไปตอนก่อนผ่าตัดหมดพลังงานไปแล้ว ฤทธิ์แอลกอฮอร์ที่หายไปตอนผ่าตัดเริ่มกลับมาออกฤทธิ์อีกครั้ง กระเพาะเริ่มร้องสั่งว่าต้องการอาหารที่มีประโยชน์ วันอาทิตย์แถวใกล้ ๆ โรงพยาบาลมีอะไรทานบ้าง นั่งคิดรายการอาหารอันน่าเบื่อไปเสียทุกอย่าง เสียงเคาะประตูห้องดังขึ้นก่อนที่ป้ามลจะเปิดเข้ามา
“หมอจะทานอะไรคะ ป้าจะสั่งคนไปซื้อทีเดียว” ป้ามลคนรู้ใจมาได้ถูกเวลาอีกแล้ว
“มีอะไรกินบ้างคะป้า” เธอถามอย่างเบื่อหน่าย ถ้าอยู่ในกรุงเทพป่านนี้คงเลือกกินได้ไม่ถูกว่าจะกินอะไร
“ก๋วยเตี๋ยว เกาเหลา อาหารตามสั่งค่ะ” ป้ามลพูดคล่องเพราะมีให้เลือกแค่นี้
“ไม่มีอย่างอื่นเหรอป้า เบื่อจัง” รัญรัมภาบ่น บางครั้งอยู่กับป้ามลเธอก็เผลอทำตัวเหมือนเด็กบ้าง
“มีแค่นี้แหละค่ะ หมอจะทานอะไร ราดหน้า ข้าวผัด ผัดกระเพราะ ผัดพริกแกง ผัดซีอิ้ว ไข่เจียว” ป้ามลเพิ่มรายการมาให้เลือก แต่รัญรัมภาก็ยังคงทำหน้าเบื่ออาหารพวกนี้อยู่ดี
“ร้านข้าวแกงล่ะป้า” รัญรัมภานึกถึงร้านข้าวแกงที่น่าจะมีรายการอาหารให้เลือกมากขึ้นและเป็นร้านที่ทำรสชาติถูกปากเธอที่สุด หากไม่นับของกินในตลาดตัวอำเภอ
“วันนี้เขาหยุดค่ะ หมอจะทานอะไร เร็ว ๆ ค่ะ คนซื้อเขารออยู่” ป้ามลก็เริ่มรำคาญความเรื่องมากของหมอเหมือนกัน
“ก็หมอเบื่อนี่คะ อยากจะมีคนทำกับข้าวให้กินทุกวันจัง” รัญรัมภายังคงบ่นแต่ไม่ตอบว่าจะทานอะไร
“ทีข้าวปลาอาหารดี ๆ บ่นเบื่อ แล้วทีเหล้ายาปลาปิ้งไปกินมันอยู่ได้ ไม่เคยเห็นบ่นว่าเบื่อสักที เอาเกาเหลาข้าวเปล่าก็แล้วกันนะคะ จะได้หายแฮงค์”
ป้ามลจัดการตัดสินใจให้และลุกออกจากห้องไปด้วยความรำคาญ ตั้งแต่ทำงานมาไม่เคยเจอหมอคนไหนกินยากเท่าหมอรัญ อาหารการกินแต่ละอย่างต้องเดาใจว่าจะชอบไหม อย่างเมื่อตอนสายที่เตรียมผ่าตัด หากาแฟชงใหม่ไม่ทันก็ต้องใช้แบบกึ่งสำเร็จรูปไปก่อน ถ้าลองเป็นตอนเหตุการณ์ปกติไม่มีทางที่หมอรัญจะยอมดื่มกาแฟแบบนั้น ถ้าเข้าไปในตลาดตอนเช้าก็ต้องเอากาแฟร้านอาแปะเก่าแก่เท่านั้น หรือไม่ก็ต้องร้านกาแฟสดที่อยู่ข้างธนาคารใหญ่ ไม่มีใครรู้ดีเท่านี้เพราะคนที่หมอรัญชอบไปชวนไปหาอะไรกินในตลาดตอนเช้าก็คือป้ามลคนเดียว ส่วนพยาบาลชายคนสนิทนั้นมีภาระต้องส่งลูกไปโรงเรียนทุกเช้า จึงเป็นเพื่อนกินหลังเลิกงานมากกว่า
ครึ่งชั่วโมงต่อมาเกาเหลาข้าวเปล่าก็ถูกส่งมาถึงห้องพัก แม้มันจะเป็นอาหารที่ซ้ำซากน่าเบื่อแต่มันก็อร่อยใช้ได้เพราะทั้งเนื้อหมู ลูกชิ้น ผักสด ใส่มาไม่อั้น ถ้าดูตามหลักโภชนาการมันดีกว่ากว่าอาหารราคาแพงที่กินในร้านหรูหลายเท่านัก แต่บางครั้งคนเราก็อยากกินเพื่อความหรูหรามากกว่ากินเพื่อประโยชน์ร่างกาย รัญรัมภาเคยเป็นแบบนั้น แต่สามปีที่ผ่านมา ชีวิตที่นี่สอนให้เธอรู้จักการกินเพื่ออยู่มากขึ้น
ทานอาหารเรียบร้อยแล้วก็นึกได้ว่ามีมะม่วงน้ำดอกไม้สุกอยู่ คงต้องไปขอให้พยาบาลปอกให้ เพราะเธอไม่มีมีดและขี้เกียจปอกเอง
ถือถุงมะม่วงไปหาพยาบาลที่ห้องพักคนไข้รวม กลับเจอป้ามลกำลังคุยกับแม่ของเด็กคนนั้น เมื่อหันมาเห็นหมอรัญกำลังเดินไปหา เธอก็ยกมือไหว้ลาป้ามลและขอตัวกลับทันที คงอายที่ถูกหมอรัญตำหนิกลาย ๆ เรื่องไม่ดูแลลูก
“มีอะไรคะหมอ” ป้ามลถามด้วยความแปลกใจ
“อ๋อ พอดีจะมาให้เจี๊ยบปอกมะม่วงให้กิน แต่เจี๊ยบไม่อยู่ เดี๋ยวหมอไปปอกเองก็ได้” รัญรัมภาทำท่าจะผละไป
“ไม่เป็นไรค่ะเดี๋ยวป้าปอกให้ เจี๊ยบไปกินข้าวอยู่”
ป้ามลฉวยถุงในมือและเดินไปที่ห้องพักพยาบาลอีกห้องที่อยู่ข้าวนอก ซึ่งเป็นส่วนที่กั้นไว้สำหรับเป็นห้องครัว เล็ก ๆ มีกาต้มน้ำ เตาไมโครเวฟ ตู้เย็น มีด ช้อน และจานชามใส่อาหารพร้อมสรรพในนั้น รัญรัมภาเดินตามไปด้วย
“ป้า แม่เด็กคนนั้นทำงานอะไรเหรอ” รัญรัมภาถามขณะยืนมองป้ามลปอกมะม่วงเหมือนเด็กที่รอให้ผู้ใหญ่ทำของโปรดให้ทาน
“คนไหนคะ” ป้ามลถามพลางปอกมะม่วงอย่างระมัดระวัง
“เด็กที่ตกต้นไม้ไง แม่เขาเป็นใคร ทำไมไม่ดูลูกดี ๆ” รัญรัมภายังไม่วายตำหนิ แม้ผู้หญิงคนนั้นจะไม่ได้อยู่ด้วย
“เรื่องนี้นี่เอง เจี๊ยบเล่าให้ป้าฟังแล้วล่ะ มิน่าเขาถึงไม่อยากเจอหมอ” สายตาป้ามลยังคงอยู่ที่ผลมะม่วง
“คงอายหมอล่ะสิ ทีตัวเองล่ะสะอาดสะอ้าน สวยตั้งแต่หัวจรดเท้า แต่ปล่อยลูกใส่เสื้อผ้าเก่า ๆ เนื้อตัวมอมแมม” รัญรัมภายังไม่หายหงุดหงิด เมื่อคิดถึงแม่ที่ไม่ดูแลลูกคนนั้น
“รู้ได้ไงคะว่าเขาสวย เจี๊ยบบอกว่าหมอไม่ได้มองหน้าเขาด้วยซ้ำ” คราวนี้ป้ามลกลั้นหัวเราะไว้ไม่ได้
“ป้าหัวเราะอะไรคะ” รัญรัมภาแปลกใจและเริ่มเฉลียวใจ
“ก็หมอคิดไปเองว่าเขาเป็นแม่เด็กคนนั้น เลยไปเหมาว่าเขาไม่ดูแลลูก เขาก็โกรธสิคะ ผู้หญิงคนนั้นไม่ได้เป็นแม่เด็กค่ะ เขาชื่อครูจรัส เด็กคนนี้ไปปีนต้นมะม่วงหลังบ้านพักครูจรัสพอดี พอตกต้นไม้ก็เลยรีบพาส่งโรงพยาบาลก่อน แล้วตอนหมอมาเขาไปตามหาคนไปส่งข่าวให้ญาติเด็กคนนี้อยู่”
รัญรัมภาอึ้งไปเมื่อได้รู้ความจริงกับสิ่งที่ไม่คิดเฉลียวใจมาก่อน ถึงว่าทำไมผิวพรรณการแต่งกายถึงต่างกันนัก เธอก็ไม่หยุดคิดให้ดีว่าจะมีแม่ที่ไหนที่แสดงท่าทางรักลูกแบบนั้นแล้วจะปล่อยให้ลูกเล่นซนและไม่เนื้อตัวสกปรกขนาดนั้น รัญรัมภา เธอน่าจะคิดให้รอบคอบกว่านี้ก่อนที่จะตัดสินใคร หรือไม่ก็ควรจะถามไถ่ให้ดีก่อน
“ก็หมอได้ยินเขาเรียกเด็กคนนั้นว่าลูกนี่คะ” รัญรัมภาเสียงอ่อยลง
“ครูจรัสก็เรียกเด็กทุกคนว่าลูกหมดแหละค่ะ หมาแมวก็ยังเรียกลูกเลย” ป้ามลพูดอย่างอารมณ์ดีที่เห็นหมอรัญจ๋อยลงบ้าง ไม่อย่างนั้นไม่มีทางที่ใครจะเห็นหมอรัญรู้สึกผิดกับสิ่งที่ตัวเองพลาดไป
“แต่เขาลูบหัวเด็กด้วยนะคะ” เธอยังพยายามหาข้ออ้างมาเข้าข้างตัวเอง
ป้ามลเงยหน้าขึ้นมาจากผลมะม่วงที่กำลังปอกอยู่ และหันมามองเธอด้วยสายตาที่อิดหนาระอาใจกับการไม่ยอมรับผิดแบบเต็มตัวของหมอรัญ
“เวลามีคนไข้เด็ก ๆ มาหา หมอก็ยังเรียกเขาว่าลูก เด็กคนไหนงอแง โยเย หมอก็ยังไปโอ๋ไปกอดไปปลอบใจ แล้วทำไมครูจรัสจะทำแบบนั้นไม่ได้ล่ะคะ”
“มันไม่เหมือนกันนี่คะ” หมอรัญเถียงข้าง ๆ คู ๆ อย่างไม่มีเหตุผล
“เฮ้อ หมอไปรอที่ห้องดีกว่าค่ะ เดี๋ยวป้าอุ่นข้าวเหนียวมูนน้ำกะทิให้ด้วย ใครไม่รู้ซื้อมาใส่ตู้เย็นไว้” ป้ามลไล่เธอด้วยความรำคาญกับการไม่ยอมแพ้ แค่ยอมรับว่าตัวเองผิดแค่นี้จะเป็นไร
รัญรัมภาต้องมารอที่ห้องพักตามคำสั่งป้ามล จริงอย่างที่เจี๊ยบบอก ตอนนั้นเธอมัวแต่หงุดหงิดจนไม่ได้มองหน้าผู้หญิงคนนั้น จำได้เพียงผมยาวรวบเป็นหางม้ากับท่าทางอันอ่อนโยนที่แสดงต่อเด็กชาย แต่ไม่เป็นไร รู้ชื่อแล้วว่าชื่ออะไร เดี๋ยวไปถามเด็กคนนั้นว่าเรียนที่ไหนแล้วค่อยหาโอกาสไปขอโทษที่โรงเรียน หรือบางทีพรุ่งนี้เธออาจจะมาเยี่ยมลูกศิษย์อีกก็ได้ ทำผิดกับเขาก็ขอโทษได้ แต่จะให้ยอมรับว่าผิดเต็มประตูอยู่คนเดียวไม่มีทางหรอก
ป้ามลเดินเข้ามาพร้อมกับกลิ่นข้าวเหนียวมูนน้ำกะทิหอมฉุย มะม่วงน้ำดอกไม้สุกกำลังกินอย่างที่คุณยายว่า รัญรัมภามองอาหารในจานอย่างพอใจ เรื่องกินอย่างอื่นอาจจะยาก แต่ถ้าหากเป็นขนมไทย รัญรัมภากินได้ทุกอย่างแม้บางครั้งจะบ่นว่าอ้วนก็ตาม
“ป้า ถ้าพรุ่งนี้ครูจรัสมา บอกหมอด้วยนะคะ” รัญรัมภาเริ่มแสดงการยอมรับผิด
“บอกแล้วจะทำไมคะ ครูจรัสเขาคงไม่สนใจหรอกค่ะ”
“หมอแค่อยากขอโทษเขา อุตส่าห์ทำดีแล้วยังถูกตำหนิอีก คนทำดีจะเสียกำลังใจนะป้า” รัญรัมภาพูดเป็นการเป็นงานเกินเหตุ
“ถ้าป้าเจอจะบอกให้ค่ะว่าหมอฝากขอโทษ” ป้ามลเริ่มไม่ไว้ใจ ในฐานะป้ามลคนรู้ใจ รัญรัมภาพูดอะไรก็พอเดาจุดประสงค์ที่แท้จริงออกทุกครั้ง
“หมอแค่อยากขอโทษกับตัวเขา จืด ๆ เชย ๆ แบบนั้น หมอไม่สนใจหรอก” รัญรัมภารู้ว่าป้ามลคิดอะไร
“ไหนตอนนั้นยังบอกว่าสวยอยู่เลยนี่คะ” ป้ามลใช้สายตาเป็นสัญญาณเตือน
“คือเขาดูสะอาด หมอก็เลยพูดรวม ๆ ไป หน้าก็ยังไม่ได้มองดูดี ๆ เลย” รัญรัมภาหาข้ออ้างมาแก้ตัว
“ค่ะ ถ้าเขามาแล้วจะบอก แต่ป้าขอเตือนไว้ก่อนนะคะ เขาไม่เหมือนบรรดาผู้หญิงที่หมอเล่นสนุกอยู่ด้วยทุกวันนี้ หมออย่าเอาเรื่องสนุกของหมอไปล้อเล่นกับเขา” ป้ามลยอมแพ้แต่ก็ไม่วายเตือนหมอรัญไม่ให้ทำอะไรเกินเลยไปมากไปกว่าการขอโทษเท่านั้น
รัญรัมภารับปากในสิ่งที่ป้ามลขอ และหันมาสนใจข้าวเหนียวมะม่วงตรงหน้า มันน่าทานและคงหอมหวานจากน้ำใจอันบริสุทธิ์ของคนให้ ยิ่งนับวันยิ่งมั่นใจว่าจะฝากชีวิตไว้ที่นี่ ไม่คิดที่จะกลับไปอยู่เมืองหลวงที่จากมาอีกแล้ว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------